จาง อี้ว์กุ่น---ครูชนบท แบบอย่างแห่งยุคสมัย (2)

2019-08-07 09:54:43 | CRI
Share with:

图片默认标题_fororder_369883352680928269_副本

 “ผมอยากเป็นจันทร์เพ็ญดวงหนึ่ง ส่องแสงบนหนทางนำนักเรียนก้าวออกจากภูเขาใหญ่”

นี่เป็นความปรารถนาและความมุ่งมั่นของนายจาง อี้ว์กุ่น (张玉滚, Zhang Yugun) ครูในหมู่บ้าน “เฮยหู่เมี่ยว” พื้นที่ชนบทในมณฑลเหอหนานมาตลอด 18 ปี ผู้ได้รับการยกย่องให้เป็น “แบบอย่างแห่งยุคสมัย”

หมู่บ้านเฮยหู่เมี่ยว มีประชากรกว่า 1,300 คน โรงเรียนประถมเฮยหู่เมี่ยว (黑虎庙小学) ที่นายจาง อี้ว์กุ่นสอนอยู่ มีนักเรียน 75 คน การได้ออกจากพื้นที่ภูเขาและมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เป็นความฝันของคนในพื้นที่แห่งนี้ทุกชั่วอายุคน

ชื่อหมู่บ้าน “เฮยหู่เมี่ยว” มีที่มาจากวัดโบราณแห่งหนึ่งบนจุดสูงสุดของหมู่บ้าน เล่าต่อๆ กันมาว่า เจ้า กงหมิง เทพเจ้าแห่งโชคลาภขี่เสือดำตัวหนึ่งปราบภูตผีปีศาจในบริเวณนี้ คืนความสงบสุขแก่ท้องถิ่น ชาวบ้านต่างสำนึกในบุญคุณของเทพเจ้าแห่งโชคลาภ จึงได้สร้างวัดเทพเจ้าองค์นี้ในหมู่บ้าน และตั้งชื่อว่า  “เฮยหู่เมี่ยว” ซึ่งแปลว่า “วัดเสือดำ” และตั้งเป็นชื่อหมู่บ้านด้วย คือ หมู่บ้าน “เฮยหู่เมี่ยว” ซึ่งหมายความว่า หมู่บ้าน “วัดเสือดำ”

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้หมู่บ้านแห่งนี้จะบูชาเทพเจ้าแห่งโชคลาภ แต่ชาวบ้านก็ยังคงใช้ชีวิตอย่างยากจน เล่ากันว่าในอดีตพอถึงช่วงเทศกาลตรุษจีน ชาวบ้านที่นี่จะหาบฟืน 1 หาบ เดินขึ้นเขา 20-30 กิโลเมตร นำไปขายยังตลาดในตำบล เพื่อแลกเป็นผักกาด 2 ต้น และเส้นหมี่ 1 กำ ถือเป็นการซื้อของเพื่อเตรียมฉลองตรุษจีน

การจะขจัดความยากจนและเปลี่ยนอนาคต ต้องเริ่มต้นจากการศึกษา ครูหลายชั่วคนที่โรงเรียน “เฮยหู่เมี่ยว” ได้อุทิศตนเพื่อให้เด็กนักเรียนในหมู่บ้านมีอนาคตที่ดีขึ้น ตั้งแต่ปี 2001 เป็นต้นมา นายจาง อี้ว์กุ่นได้เดินตามรอยครูอาวุโสทั้งหลาย โดยอุทิศตนเพื่อให้นักเรียนในหมู่บ้านมีอนาคตที่ดีขึ้น

图片默认标题_fororder_2.2_副本

“บันทึกไม้คาน”------

ที่ห้องพักของนายจาง อี้ว์กุ่น มีไม้คานอันหนึ่ง ยาว 2 เมตร มีสีออกดำและเป็นมันเงา ไม้คานอันนี้ไม่ธรรมดา เป็นไม้คานที่นายอู๋ หลงฉี อดีตครูใหญ่เคยใช้มาหลายสิบปี ส่วนนายจาง อี้ว์กุ่นที่รับช่วงต่อก็ใช้มา 5 ปีแล้ว ตั้งแต่ปี 2001-2006 แต่ละครั้งก่อนเปิดภาคเรียน นายจาง อี้ว์กุ่น พร้อมเพื่อนครูอีกหนึ่งคนจะใช้ไม้คานนี้หามตำราและอุปกรณ์การเรียนจากตำบลสู่หมู่บ้าน ระยะทางบนภูเขาหลายสิบกิโลเมตร พร้อมตำราและอุปกรณ์การเรียนหนักหลายสิบกิโลกรัม

      ต่อมาในปี 2006 ทางหลวงเข้าสู่หมู่บ้านสร้างเสร็จและเปิดเดินรถ อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการเดินรถประจำทาง ชาวบ้านหลายคนจึงซื้อรถมอเตอร์ไซค์และรถสามล้อ ส่วนนายจาง อี้ว์กุ่นก็ได้ประหยัดอดออมและซื้อรถมอเตอร์ไซค์คันหนึ่ง จากนั้น เขาจึงเลิกใช้ไม้คานอันนั้น

ไม้คานจึงเป็นมรดกที่สื่อถึงความทรหดอดทนและการเสียสละอย่างสุดตัวของบรรดาครูในพื้นที่ชนบททุกชั่วคน

ด้วยความพยายามของครูเหล่านี้ แต่ละปี เด็กๆ จึงสามารถก้าวออกจากภูเขา บ้างสอบเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัย บ้างได้เรียนถึงระดับปริญญาโท บ้างย้ายไปอาศัยอยู่ในหัวเมือง......ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมามีเด็กนักเรียนที่สอบเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยได้ 16 คน

การทำงานหนักทำให้นายจาง อี้ว์กุ่น “ดูแก่กว่าวัย” เมื่อเทียบกับคนวัยเดียวกัน กล่าวคือ อายุ 30 กว่า แต่ดูเหมือน 50 กว่า หลายครั้งที่ไปประชุมที่ตำบล คนที่ไม่รู้จักเขามักจะทักว่า “ใกล้จะเกษียณแล้วใช่ไหม” ซึ่งเขามักจะหัวเราะ

เนื่องจากโรงเรียนแห่งนี้มีจำนวนครูไม่เพียงพอ นายจาง อี้ว์กุ่นจึงจำเป็นต้องฝึกตัวเองให้เป็นครูที่ “สอนได้ทุกอย่าง” เขาจึงเก่งในการสอนทุกวิชา ทั้ง “อักษรศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ จริยธรรม วิทยาศาสตร์ ศิลปะ และพลศึกษา” เมื่อ 5 ปีก่อน (ค.ศ.2014) เขารับตำแหน่งครูใหญ่ต่อ อีกทั้งยังรับทำหน้าที่ปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนของโรงเรียนอีกด้วย

图片默认标题_fororder_2.3_副本

“ไม่ละเลยชั่วโมงเรียนสักชั่วโมง สอนให้ดีทุกชั่วโมงเรียนด้วยทุกวิถีทาง”

เพื่อให้เด็กในพื้นที่ภูเขาสามารถพูดอังกฤษได้แบบเจ้าของภาษา นายจาง อี้ว์กุ่นจึงสละเงินส่วนตัวซื้อเครื่องเล่นเทปพร้อมม้วนเทป เพื่อนำมาหัดพูดตาม จากนั้นจึงนำไปเปิดให้เด็กนักเรียนฟังซ้ำแล้วซ้ำอีก เขากล่าวอย่างอารมณ์ดีว่า “การออกเสียงต้องฝึกให้ดี ไม่ควรให้เด็กพูดภาษาอังกฤษติดสำเนียงเฮยหู่เมี่ยว ซึ่งจะทำให้คนอื่นหัวเราะเยาะ”

 “ให้น้ำแก่เด็ก 1 ช้อน ครูต้องมีน้ำ 1 ถัง” นี่เป็นคำพูดติดปากของนายจาง อี้ว์กุ่น หลายปีมานี้ เขาศึกษาต่อระหว่างทำงาน โดยไม่เคยลืมการเรียนแม้จะทำงานเหน็ดเหนื่อยเช่นไร เขาเรียนด้วยตนเองจนสำเร็จการศึกษาระดับอนุปริญญาแล้ว ขณะนี้กำลังเรียนด้วยตนเองในหลักสูตรปริญญาตรี “ในภูเขาไม่ค่อยได้ติดต่อกับข้างนอก หากครูไม่ได้เรียนอะไรมากขึ้น จะสอนเด็กให้ได้ดีอย่างไร?”

สิ่งที่น่าชื่นชมคือ ปีหลังๆ นี้ ภายใต้การเอาใจใส่ของหน่วยงานการศึกษาและวงการต่างๆ ในสังคม โรงเรียนเฮยหู่เมี่ยวจึงมีความพร้อมมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ต้นปี 2018 ทางการอำเภอเจิ้นผิงได้จัดงบประมาณกว่า 500,000 หยวนแก่โรงเรียนฯ ห้องเรียนแต่ละห้องมีกระดานใหม่ เปลี่ยนเป็นแบบเลื่อนซ้ายขวาได้ และมีจอแอลซีดี (LCD) พร้อมระบบการเรียนการสอนทางไกล ทำให้นักเรียนในเขตภูเขาสามารถเรียนพร้อมกับนักเรียนในเมืองได้

รักการเรียนการสอน รักโรงเรียน รักเด็ก......

เด็กนักเรียนที่ไม่สบาย มีอาการปวดศีรษะ ตัวร้อน นายจาง อี้ว์กุ่นจะดูออกได้อย่างทันเวลา เขามักจะเตรียมยาสามัญไว้ในกล่องยาของที่ทำงาน เด็กบางคนติดขัดไม่สามารถจ่ายเงินค่าอาหารได้ เขามักจะสำรองจ่ายไปก่อนอย่างเงียบๆ แม้ว่าเงินรายได้ของเขาจะน้อยมากก็ตาม ตลอดช่วง 18 ปีมานี้ เขาอุปถัมภ์เด็กจำนวนกว่า 300 คน ตั้งแต่มีเขามาเป็นครูที่นี่ ก็ไม่เคยมีเด็กนักเรียนไม่ได้เรียนเลยสักคน

เพื่อนักเรียน นายจาง อี้ว์กุ่นยังต้องฝึกฝีมืออีกหลายอย่าง รวมถึงการทำกับข้าว การเย็บปักถักร้อย และการซ่อมแซมเครื่องใช้ต่างๆ โดยเฉพาะโต๊ะเก้าอี้นักเรียน เมื่อเสียแล้ว เขาก็จะนำมาซ่อม หรือแม้กระทั่งอาคารเรียน เมื่อชำรุด เขาก็จะหาวัสดุมาซ่อมแซม......

图片默认标题_fororder_2.4_副本

นายจาง อี้ว์กุ่นมีพี่น้องอีก 4 คน เขาเป็นลูกคนที่ 3 เป็นลูกสุดที่รักของคุณแม่ พ่อแม่ต่างสนับสนุนการทำงานของเขาอย่างเงียบๆ

ภริยาของนายจาง อี้ว์กุ่นทำงานในโรงเรียนแห่งนี้เช่นกัน สามีภริยาคู่นี้มีลูกชายหนึ่งคนและลูกสาวหนึ่งคน เนื่องจากไม่มีเวลาดูแล พวกเขาจึงส่งลูกทั้งสองคนไปโรงเรียนประจำในตัวเมือง 2 สัปดาห์จึงจะรับกลับมาอยู่ด้วยครั้งหนึ่ง

 นายจาง อี้ว์กุ่นทุ่มเทแทบทุกสิ่งทุกอย่างแก่โรงเรียนและเด็กนักเรียน สำหรับคนในครอบครัวแล้ว เขารู้สึกเสียใจมาก

สาเหตุที่นายจาง อี้ว์กุ่น ครูใหญ่โรงเรียนประถมเฮยหู่เมี่ยวสามารถสร้างความประทับใจแก่ผู้คนจำนวนมาก ก็เพราะว่าเขามีความอดทนต่อสู้ ยึดมั่นในความรับผิดชอบ ปักหลักในพื้นที่ชนบทท่ามกลางภูเขาเป็นเวลาตลอด 18 ปีอย่างตั้งใจ ช่วยเหลือนักเรียนอย่างสุดจิตสุดใจเพื่อให้ก้าวออกจากเขตภูเขาและมีอนาคตที่สดใส

ครูในพื้นที่รากหญ้า คนธรรมดาที่เกิดในทศวรรษปี 1980 ต่อสู้อย่างทรหดอดทน จนได้รับการยกย่องเป็น “แบบอย่างแห่งยุคสมัย”

“ทางการอำเภอกำลังแก้ไขปัญหาการขาดแคลนครูอย่างสุดความสามารถ พร้มอกับการยกระดับคุณภาพการเรียนการสอนในพื้นที่ภูเขาให้สูงขึ้น โดยเพิ่มเงินโบนัส เพิ่มสวัสดิการแก่ครูในพื้นที่ภูเขา” ผู้นำอำเภอเจิ้นผิงระบุว่า “การให้ครูในพื้นที่ชนบทมีศักดิ์ศรีมากขึ้น มีผลตอบแทนและได้รับการพัฒนา จะเป็นการทำให้การเรียนการสอนในพื้นที่แห่งนี้มีความหวัง พื้นที่ชนบทจึงจะมีความเจริญรุ่งเรืองได้”

“ผมอยากเป็นจันทร์เพ็ญดวงหนึ่ง ส่องแสงบนหนทางนำนักเรียนก้าวออกจากภูเขาใหญ่”

นี่เป็นความมุ่งมั่นของนายจาง อี้ว์กุ่น ครูใหญ่โรงเรียน “เฮยหู่เมี่ยว” ในพื้นที่ชนบทของมณฑลเหอหนาน

 

(TIM/LING)

 

00:00:00

  • เสียงข่าวประจำวัน (07-06-2565)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (07-06-2565)

  • เสียงคุยกันวันละประเด็น (07-06-2565)

  • เสียงข่าวประจำวัน (06-06-2565)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (06-06-2565)

周旭