ประวัติศาสตร์การก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีน

2021-05-26 08:40:52 | CMG
Share with:

ประวัติศาสตร์การก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีน_fororder_活动标识

ค.ศ. 2021 เป็นวาระครบรอบ 100 ปี แห่งการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีน การทำความเข้าใจประวัติศาสตร์การก่อตั้งพรรคฯ นั้น มีทั้งคุณค่าทางวิชาการและความหมายในปัจจุบัน

เพื่อฉลองการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีนครบหนึ่งศตวรรษ เมื่อเร็ว ๆ นี้ ศาสตราจารย์ เซ่า เว๋ยเจิ้ง ผู้มีประสบการณ์ศึกษาค้นคว้ามีส่วนในการเรียนการสอนเกี่ยวกับประวัติพรรคฯ และประวัติศาสตร์การปฏิวัติจีนมาอย่างยาวนาน ได้ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับประวัติการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งควรค่าแก่การรำลึกและจดจำ

ศาสตราจารย์ เซ่า เว๋ยเจิ้ง กล่าวว่า วิวัฒนาการ 100 ปี ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนเริ่มต้นจากการก่อตั้งพรรคฯ การศึกษาค้นคว้ากระบวนการก่อตั้งพรรคฯ มีความหมายสำคัญต่อการรักษากฎแห่งพรรคและการทำความเข้าใจเจตนารมณ์แห่งการก่อตั้งพรรคฯ น้ำมีแหล่ง ต้นไม้มีราก หากจะเรียนรู้แหล่งที่มาและรากของพรรคคอมมิวนิสต์จีนนั้นจำต้องศึกษาประวัติศาสตร์การก่อตั้งพรรคฯ อย่างลึกซึ้ง

เมื่อกล่าวถึงการสถาปนาพรรคคอมมิวนิสต์จีน ผู้คนทั้งหลายมักถือการเปิดประชุมผู้แทนพรรคคอมมิวนิสต์จีนทั่วประเทศครั้งแรกเป็นสัญลักษณ์ ซึ่งเป็นมุมมองที่ถูกต้องมิอาจตำหนิติเตียนได้ แต่ทว่าการถือกำเนิดของพรรคคอมมิวนิสต์จีนนั้นหาใช่เป็นเรื่องง่ายเพียงการเปิดประชุมหรือการลงมติครั้งหนึ่งเท่านั้น หากเป็นกระบวนการค่อยเป็นค่อยไปที่ผสมผสานปัจจัยหลายประการและขบวนการเคลื่อนไหวหลายต่อหลายครั้ง กล่าวในภาพรวมกระบวนการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ผ่านการดำเนินการเป็นเวลา 4 ปี คือ ค.ศ. 1919, 1920, 1921 และ 1922

ค.ศ.1919 เป็นปีแห่งการเตรียมความพร้อมก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีน โดยมี “ขบวนการเคลื่อนไหว 4 พฤษภาคม” เป็นสัญลักษณ์ “ขบวนการเคลื่อนไหว 4 พฤษภาคม” เป็นการเคลื่อนไหวรักชาติต่อต้านจักรวรรดินิยมครั้งยิ่งใหญ่ ทั้งยังเป็นขบวนการเคลื่อนไหวปลดปล่อยความคิดครั้งยิ่งใหญ่ด้วย ก่อนและหลังการอุบัติขึ้นของ “ขบวนการเคลื่อนไหว 4 พฤษภาคม” แนวคิดต่าง ๆ ได้เริ่มเผยแพร่ในจีน ซึ่งเปลี่ยนบรรยากาศทางการเมืองที่เงียบงันภายหลังความพ่ายแพ้ของ “การปฏิวัติซินไฮ่” (ขบวนการปฏิวัติทั่วประเทศที่มีวัตถุประสงค์โค่นล้มระบอบเผด็จการกษัตริย์แห่งราชวงศ์ชิงและสถาปนาระบอบสาธารณรัฐซึ่งเกิดขึ้นระหว่างปี ค.ศ. 1911 – 1912) ความคิดของผู้คนมีความคึกคักเป็นพิเศษ กล่าวให้ถูกต้อง คือ ลัทธิมาร์กซ์ถูกเผยแพร่ในวงกว้างภายหลัง “ขบวนการเคลื่อนไหว 4 พฤษภาคม” ได้อุบัติขึ้น ทั้งนี้มีสัญลักษณ์อันโดดเด่นสองประการ สัญลักษณ์ประการแรก คือ การเรียบเรียงและจัดพิมพ์เผยแพร่ “นิตยสารศึกษาค้นคว้าลัทธิมาร์กซ์ฉบับพิเศษ” ภายหลังนิตยสาร “เยาวชนยุคใหม่” ย้ายที่ตั้งสำนักงานจากเซี่ยงไฮ้ไปยังปักกิ่ง นายหลี่ ต้าเจา (ผู้ริเริ่มขบวนการเคลื่อนไหวลัทธิคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีน นักลัทธิมาร์กซ์ผู้ยิ่งใหญ่ นักการปฏิวัติชนชั้นกรรมาชีพอันยอดเยี่ยม และหนึ่งในบุคคลสำคัญที่ก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีน) ได้เรียบเรียงนิตยสาร “เยาวชนยุคใหม่” เลขที่ 5 ฉบับที่ 6 ประจำ ค.ศ. 1919 ให้เป็นฉบับศึกษาค้นคว้าลัทธิมาร์กซ์โดยเฉพาะ โดยได้ตีพิมพ์ 7 บทความที่แนะนำและประเมินนายคาร์ล มาร์กซ์ ตลอดจนทฤษฎีและแนวคิดของเขาจากแง่มุมต่าง ๆ ซึ่งผลักดันการศึกษาค้นคว้าลัทธิมาร์กซ์จากห้องสมุดสู่สังคม โดยเฉพาะบทความเรื่อง “ทัศนคติต่อลัทธิมาร์กซ์ของข้าพเจ้า” ที่นายหลี่ ต้าเจาเขียนเรียบเรียงขึ้นด้วยตนเองนั้นถือเป็นผลสำเร็จสำคัญประการแรกของการเผยแพร่ลัทธิมาร์กซ์ในประเทศจีน

สัญลักษณ์ประการที่สอง คือ เดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1919 เพื่อรำลึกวันคล้ายวันเกิดครบรอบ 101 ปี ของนายคาร์ล มาร์กซ์ ภายใต้การสนับสนุนและชี้นำของนายหลี่ ต้าเจา “หนังสือพิมพ์มอร์นิ่ง” ปักกิ่ง ได้เปิดคอลัมน์พิเศษ “การศึกษาค้นคว้ามาร์กซ์” เพื่อตีพิมพ์เนื้อหาเกี่ยวกับลัทธิมาร์กซ์โดยเฉพาะ ซึ่งรวมถึงบทประพันธ์ของนายคาร์ล มาร์กซ์ เช่น หนังสือ “แรงงานกับเงินทุน” เป็นต้น ปฏิบัติการที่ไม่ธรรมดาสองประการของนิตยสารและหนังสือพิมพ์ดังกล่าวได้ขยายบทบาทแห่งการชี้นำ ควบคู่ไปกับการผุดขึ้นอย่างคึกคักของวัฒนธรรมและแนวคิดใหม่อันสืบเนื่องจาก “ขบวนการเคลื่อนไหว 4 พฤษภาคม” ท้องที่ต่าง ๆ ของจีนต่างเผยแพร่ลัทธิมาร์กซ์อย่างกว้างขวางด้วยรูปแบบอันหลากหลาย นำไปสู่การปูพื้นฐานทางความคิดแก่การก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีน

อีกเรื่องใหญ่ที่เกิดขึ้นในจีนเมื่อ ค.ศ. 1919 คือ ชนชั้นกรรมกรจีนก้าวขึ้นสู่เวทีทางการเมือง ในช่วงระยะเวลาอันยาวนานก่อนหน้านั้นการเคลื่อนไหวกรรมกรล้วนเป็นการต่อสู้ทางเศรษฐกิจ เมื่อบรรลุเป้าหมายทางเศรษฐกิจการหยุดงานจึงยุติลง เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน ค.ศ. 1919 เพื่อสนับสนุน “ขบวนการเคลื่อนไหว 4 พฤษภาคม” ในปักกิ่ง กรรมกรแขนงงานต่าง ๆ ในนครเซี่ยงไฮ้จึงร่วมกันหยุดงานครั้งใหญ่ซึ่งเป็นการหยุดงานทางการเมืองโดยไม่มีข้อเรียกร้องใด ๆ ทางเศรษฐกิจ แต่เป็นการหยุดงานเพื่อแสดงความรักชาติ คัดค้านจักรวรรดินิยม ลัทธิศักดินา และอิทธิพลขุนศึก ทั้งนี้ ถือเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นว่า ชนชั้นกรรมกรจีนได้เปลี่ยนจากการต่อสู้ทางเศรษฐกิจสู่การต่อสู้ทางการเมือง ความเปลี่ยนแปลงเชิงธาตุแท้เหล่านี้นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเคลื่อนไหวของกรรมกรจีน ซึ่งบ่งบอกให้เห็นว่ากรรมกรจีนได้พัฒนาจากชนชั้นที่ดำเนินการต่อสู้ตามความรู้สึกสู่ชนชั้นที่ดำเนินการต่อสู้ด้วยความตื่นตัว ชนชั้นกรรมกรจีนเริ่มก้าวขึ้นสู่เวทีการเมืองจึงมีความต้องการและความปรารถนาที่จะผลักดันให้มีพรรคการเมืองที่เป็นตัวแทนผลประโยชน์ของตนเอง ซึ่งถือเป็นการปูพื้นฐานทางชนชั้นแก่การถือกำเนิดของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ค.ศ. 1919 จึงเป็นปีที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีน เพราะเป็นปีที่มีการปูพื้นฐานทั้งความคิดและชนชั้น นอกจากนี้แล้ว หลังบททดสอบของ “ขบวนการเคลื่อนไหว 4 พฤษภาคม” บุคคลผู้มีแนวคิดก้าวหน้ากลุ่มหนึ่งได้เติบโตขึ้นเป็นแกนกลางแห่งการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีน พวกเขาได้ดำเนินการเตรียมความพร้อมแก่การก่อตั้งพรรคฯ

ค.ศ. 1920 องค์กรจัดตั้งเริ่มแรกของพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ก่อตั้งขึ้น ถือเป็นจุดเริ่มต้นแห่งการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีน การเตรียมความพร้อมเพื่อจัดตั้งองค์กรเริ่มแรกมีขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1920 นายเฉิน ตู๋ซิ่ว (ผู้ริเริ่มและผู้นำขบวนการวัฒนธรรมใหม่ “ผู้บัญชาการใหญ่แห่งขบวนการเคลื่อนไหว 4 พฤษภาคม” หนึ่งในแกนกลางในการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีนและผู้นำแกนกลางในช่วงเริ่มแรกของพรรคคอมมิวนิสต์จีน) เดินทางออกจากปักกิ่งไปยังเซี่ยงไฮ้เนื่องจากถูกขุนศึกเป่ยหยางปองร้าย เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของเขา นายหลี่ ต้าเจาจึงเป็นเพื่อนร่วมเดินทางจากปักกิ่งสู่เมืองเทียนสินด้วยการโดยสารรถล่อ การปรึกษาหารือเกี่ยวกับการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีนเกิดขึ้นระหว่างการเดินทางครั้งนี้โดยทั้งสองเห็นพ้องกันว่า การที่จีนจะดำเนินการปฏิวัติและเปลี่ยนแปลงสังคมโดยสิ้นเชิงนั้นมิอาจประสบความสำเร็จได้เพียงพึ่งพาแต่การเคลื่อนไหวครั้งหนึ่งหรือความกระตือรือร้นเท่านั้น หากจำต้องก่อตั้งพรรคบอลเชวิคเช่นเดียวกับสหภาพโซเวียต การจะบรรลุภารกิจอันยิ่งใหญ่ได้นั้นจำต้องพึ่งพาการนำอันเข้มแข็งของพรรคการเมืองชนชั้นกรรมาชีพ ทั้งสองคนได้หารือและตกลงกันอย่างหนักแน่นว่าจะแยกกันริเริ่มก่อตั้งพรรคการเมืองที่เซี่ยงไฮ้และปักกิ่ง นี่คือสิ่งที่ผู้คนทั้งหลายกล่าวขานกันในภายหลังว่า “นายเฉินทางใต้กับนายหลี่ทางเหนือ นัดหมายกันก่อตั้งพรรคฯ”

เดือนมีนาคม ค.ศ. 1920 ด้วยการชี้แนะของนายหลี่ ต้าเจา บรรดาอาจารย์และนักศึกษาที่มีแนวคิดก้าวหน้าของมหาวิทยาลัยปักกิ่งได้ริเริ่มก่อตั้ง “สถาบันศึกษาค้นคว้าทฤษฎีมาร์กซ์” อย่างลับ ๆ นับเป็นกลุ่มปฏิวัติกลุ่มแรกที่ศึกษาค้นคว้าลัทธิมาร์กซ์ของจีน โดยมีสมาชิกสำคัญประกอบด้วยนายเติ้ง จงเซี่ย และเกา จุนหยี เป็นต้น ทั้งยังได้กำหนดวัตถุประสงค์และระเบียบขั้นตอนในการสมัครเข้าเป็นสมาชิกของสถาบันด้วย ต่อมา ท้องที่ต่าง ๆ พากันเลียนแบบก่อตั้งสถาบันทำนองเดียวกันแต่มีชื่อแตกต่างกัน เช่น “สถาบันเรียนรู้ลัทธิมาร์กซ์” และ “สถาบันวิจัยรัสเซีย” เป็นต้น การก่อตั้งขึ้นขององค์กรจัดตั้งเหล่านี้ทำให้การเผยแพร่ลัทธิมาร์กซ์เปลี่ยนจากปฏิบัติการส่วนบุคคลสู่การมีองค์กรจัดตั้ง ซึ่งขับเคลื่อนการเตรียมความพร้อมทางความคิดของการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีน อันกล่าวได้อีกนัยหนึ่งว่าเป็นการซ้อมก่อตั้งพรรคฯ

เดือนเมษายน ค.ศ. 1920 จากการอนุมัติขององค์การคอมมิวนิสต์สากล พรรคคอมมิวนิสต์รัสเซียสาขาภาคตะวันออกไกลได้ส่งคณะผู้แทน 5 คนเดินทางมายังจีนเพื่อ ถ่ายทอดความสนใจของนายวลาดีมีร์ เลนินที่มีต่อการปฏิวัติจีน ทั้งยังได้ให้คำชี้แนะเกี่ยวกับการก่อตั้งพรรคการเมือง ซึ่งเร่งกระบวนการก่อตั้งองค์กรจัดตั้งในช่วงเริ่มแรกของพรรคคอมมิวนิสต์จีนให้เร็วยิ่งขึ้น การเตรียมความพร้อมได้เริ่มขึ้นในเดือนพฤษภาคม พอถึงช่วงกลางเดือนสิงหาคม ณ บ้านเลขที่ 2 ซอยเหล่าอยี๋หยังหลี่ นครเซี่ยงไฮ้ ภายใต้การอำนวยการของนายเฉิน ตู๋ซิ่ว องค์กรจัดตั้งเริ่มแรกของพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ก่อตั้งขึ้น กลายเป็นองค์กรพรรคคอมมิวนิสต์จีนแห่งแรก ด้านชื่อขององค์กรนายเฉิน ตู๋ซิ่วได้ส่งสารถึงนายหลี่ ต้าเจาเสนอให้ใช้ชื่อองค์กรว่า “พรรคคอมมิวนิสต์จีน” หลังผ่านการไตร่ตรองอย่างจริงจัง เดือนตุลาคมองค์กรจัดตั้งเริ่มแรกของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในปักกิ่งจึงถือกำเนิดขึ้น ณ ห้องทำงานของหลี่ ต้าเจาภายในหอสมุดมหาวิทยาลัยปักกิ่ง โดยใช้ชื่อว่า “หน่วยพรรคคอมมิวนิสต์” ซึ่งมีสมาชิกเพียง 3 คนในช่วงเริ่มแรกและได้เปลี่ยนชื่อเป็น “พรรคคอมมิวนิสต์จีนสาขาปักกิ่ง” ในปลายเดือนพฤศจิกายน

ต่อมาท้องที่อื่น ๆ ของจีนก็ได้ก่อตั้งองค์กรจัดตั้งเริ่มแรกของพรรคคอมมิวนิสต์จีนตามลำดับ เช่น เมืองอู่ฮั่น ฉางซา กวางโจว และจี่หนาน เป็นต้น นับเป็นการเตรียมความพร้อมด้านองค์กรจัดตั้งในการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีน เป็นอันว่าการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีนมีพื้นฐานทางความคิดและชนชั้นใน ค.ศ. 1919 และมีพื้นฐานทางองค์กรจัดตั้งใน ค.ศ. 1920 เมื่อเงื่อนไขพื้นฐานเหล่านี้มีความพร้อม เวลาแห่งการก่อตั้งพรรคจึงใกล้เข้ามาตามสถานการณ์

ประวัติศาสตร์การก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีน_fororder_中共一大1

ค.ศ. 1921 การประชุมผู้แทนพรรคคอมมิวนิสต์จีนทั่วประเทศครั้งแรกถือเป็นสัญลักษณ์แห่งการก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการของพรรคคอมมิวนิสต์จีนภายหลังการถือกำเนิดขึ้นขององค์กรจัดตั้งของพรรคฯ ตามท้องที่ต่าง ๆ เดิมมีแผนริเริ่มและเตรียมความพร้อมเปิดประชุมผู้แทนพรรคฯ ทั่วประเทศ ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1921 ผู้แทนองค์การคอมมิวนิสต์สากลเดินทางถึงเซี่ยงไฮ้ซึ่งช่วยเร่งกระบวนการเปิดประชุมผู้แทนพรรคฯ ทั่วประเทศครั้งแรกให้เร็วขึ้น วันที่ 23 กรกฎาคม ค.ศ. 1921 การประชุมผู้แทนพรรคคอมมิวนิสต์จีนทั่วประเทศครั้งแรกจัดขึ้นที่บ้านเลขที่ 106 ถนนวั่งจื้อ ซึ่งตั้งอยู่ในเขตสัมปทานฝรั่งเศสในเซี่ยงไฮ้ วันที่ 30 กรกฎาคม เนื่องจากถูกตำรวจตามตรวจค้นการประชุมวันสุดท้ายจึงย้ายไปจัดบนเรือท่องเที่ยวใน “ทะเลสาบหนานหู” หรือ “ทะเลสาบใต้” ในเมืองเจียซิง มณฑลเจ้อเจียง จนเสร็จสิ้นวาระการประชุมทั้งหมด การประชุมครั้งนั้นได้ผ่าน “นโยบายหลักฉบับแรกแห่งพรรคคอมมิวนิสต์จีน” กำหนดชื่อพรรคเป็น “พรรคคอมมิวนิสต์จีน” ตลอดจนมีการเลือกตั้ง” กรมคณะกรรมการกลาง” อันถือเป็นองค์กรนำแรกแห่งคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน โดยได้เลือกนายเฉิน ตู๋ซิ่ว เป็นเลขาธิการพรรคฯ หลังเปิดการประชุมผู้แทนพรรคฯ ทั่วประเทศครั้งแรก การจัดวางและดำเนินกิจการงานต่าง ๆ อย่างรวดเร็วจึงตามมาเป็นลำดับ เช่น เสริมสร้างการนำของพรรคฯ ต่อขบวนการเคลื่อนไหวของกรรมกร การตั้ง “สำนักงานเลขาธิการร่วมแห่งผู้ใช้แรงงานจีน” ซึ่งทำหน้าที่เป็นสำนักงานใหญ่ขององค์กรนำขบวนการกรรมกรจีนในช่วงเวลานั้น ตลอดจนการก่อตั้งสำนักพิมพ์พีเพิล หรือ สำนักพิมพ์ประชาชน เป็นต้น

ค.ศ. 1922 การประชุมผู้แทนพรรคคอมมิวนิสต์จีนทั่วประเทศ ครั้งที่ 2 ผ่านมติ 9 ฉบับ แถลงการณ์ 1 ฉบับ และ “ธรรมนูญพรรคคอมมิวนิสต์จีน” ซึ่งถือเป็นการประชุมครั้งที่ทำให้การก่อตั้งพรรคฯ มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น การเตรียมความพร้อมของการประชุมครั้งนี้ค่อนข้างสมบูรณ์เต็มที่ มีการจัดประชุมขึ้น ณ เลขที่ 625 อาคารฝูเต๋อหลี ถนนหนานเฉินตู นครเซี่ยงไฮ้ ในวันที่ 16 กรกฎาคม ค.ศ. 1922 ที่ประชุมได้เสนออย่างชัดเจนถึงหลักนโยบายแห่งการปฏิวัติประชาธิปไตยเพื่อต่อต้านจักรวรรดินิยมและลัทธิศักดินาที่สอดคล้องกับสภาพประเทศของจีน ถือเป็นการชี้นำทิศทางแก่การต่อสู้แห่งการปฏิวัติ ทั้งนี้นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ยุคใกล้ของจีนที่มีการเสนออย่างชัดเจนถึงเป้าหมายสำคัญและหลักนโยบายแห่งการปฏิวัติจีน นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้ร่างและผ่าน “ธรรมนูญพรรคคอมมิวนิสต์จีน” ฉบับแรกของจีน ซึ่งแบ่งเป็นหมวดสมาชิกพรรค องค์กรจัดตั้ง การประชุม วินัย งบประมาณ และภาคผนวก รวม 6 หมวด 29 มาตรา กว่า 3,000 ตัวอักษร อันถือเป็นการปูพื้นฐานของกฎระเบียบภายในพรรคฯ ทำให้ภารกิจและการสร้างสรรค์ตัวเองของพรรคฯ เริ่มมีหลักปฏิบัติในขั้นพื้นฐาน ด้วยเหตุนี้การประชุมผู้แทนพรรคคอมมิวนิสต์จีนทั่วประเทศ ครั้งที่ 2 จึงเป็นสัญลักษณ์แห่งการพัฒนาและปรับปรุงสมบูรณ์ยิ่งขึ้นแห่งการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีน

ประวัติศาสตร์การก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีน_fororder_中共一大2

การก่อตั้งพรรคฯ เป็นกระบวนการค่อยเป็นค่อยไปใช้เวลารวม 4 ปี ซึ่งแต่ละปีได้แบกรับภารกิจและบทบาทที่แตกต่างกัน กล่าวโดยสรุป คือ ค.ศ. 1919 เป็นปีที่เตรียมความพร้อม ค.ศ. 1920 เป็นปีเริ่มต้นการก่อตั้งพรรค ค.ศ. 1921 เป็นปีที่บรรลุการก่อตั้งพรรค และ ค.ศ. 1922 เป็นปีแห่งการปรับปรุงการก่อตั้งพรรคให้มีความสมบูรณ์แบบ การใช้ความพยายามอย่างยากลำบากตลอดช่วง 4 ปีดังกล่าวก่อรูปขึ้นเป็นรูปแบบการก่อตั้งพรรคการเมืองที่สอดประสานและส่งเสริมซึ่งกันและกันตั้งแต่เริ่มแรกจวบจนภายหลัง พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ค่อย ๆ ผงาดขึ้นทางทิศตะวันออกของโลกเหมือนแสงสว่างที่เปล่งจากดวงอาทิตย์ หลังจากนั้นเป็นต้นมา ประชาชนจีนจึงมีแกนนำที่เข้มแข็ง การปฏิวัติจีนจึงปรากฏโฉมหน้าใหม่

TIM/LU

00:00:00

  • เสียงข่าวประจำวัน (07-06-2565)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (07-06-2565)

  • เสียงคุยกันวันละประเด็น (07-06-2565)

  • เสียงข่าวประจำวัน (06-06-2565)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (06-06-2565)

陆永江