การประชุมสองสภาจีนกับสัญญาณสันติภาพจากจีน

2022-03-11 12:15:25 | ไชน่ามีเดียกรุ๊ป
Share with:

การประชุมสองสภาจีนกับสัญญาณสันติภาพจากจีน

ทันทีที่วิกฤตยูเครนปะทุในเดือนกุมภาพันธ์ โลกก็ตกอยู่ในความตึงเครียด วิกฤตยูเครนมาจากการที่สหพันธ์รัฐรัสเซียตัดสินใจส่งกองกำลังและอาวุธเข้าโจมตีฐานที่มั่นทางทหารในยูเครนหลายจุด ก่อให้เกิดความเสียหายในเชิงของการรบรวมทั้งระบบสาธารณูปโภค คิดเป็นมูลค่า 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (จากการประเมิน ณ วันที่ 7 มีนาคม) การตัดสินใจของรัสเซียมาจากความต้องการตัดทางนาโต้ที่ต้องการปิดล้อมรัสเซียโดยใช้ยูเครนเป็นพื้นที่ปฏิบัติการ หลายฝ่ายคาดกันว่า หากวิกฤตยูเครนพัฒนาไปเป็นความสงครามใหญ่ระหว่างนาโต้กับรัสเซีย จีนก็จะเข้าร่วมวงในที่สุด เพราะรัสเซียคือหนึ่งในพันธมิตรหลักของจีนและความเพลี่ยงพล้ำของรัสเซียอาจหมายถึงการตกเป็นเป้าโจมตีรายต่อไปโดยมีประเด็นนำร่องจากไต้หวันและเขตปกครองตนเองซินเกียง

ท่าทีของจีนต่อวิกฤตดังกล่าวมีความสำคัญต่อประชาคมโลกอย่างมาก เราสามารถอ่านท่าทีของจีนได้จากตัวบ่งชี้หลัก เช่น คำแถลงการณ์ของเอกอัครราชทูตจีนประจำองค์การสหประชาชาติที่ขอให้เลี่ยงการขยายความตึงเครียด โดยท่าทีที่ว่าเหมือนจะได้รับการตอกย้ำในการประชุมสองสภาประชาชนแห่งชาติชุดที่ 13 ครั้งที่ 5 ซึ่งครอบคลุมการประชุมสภาที่ปรึกษาทางการเมืองแห่งชาติและสภาประชาชนแห่งชาติอันเป็นกลไกสูงสุดที่จะรับรองกฎหมาย นโยบาย และแผนยุทธศาสตร์ของจีน แถลงการณ์ใด ๆ ก็ตามเกี่ยวกับการประชุมจะบ่งบอกแนวการวางตัวของจีนอย่างไม่ต้องตีความ

จริง ๆ แล้วการประชุมสองสภามีบทบาทในการรายงาน ประเมินผลงานของรัฐบาลในแต่ละรอบปี ความสำคัญของการประชุมคือการเผยให้สังคมได้ทราบแผนยุทธศาสตร์รวมทั้งทิศทางนโยบายทั้งในระดับชาติและระหว่างประเทศ หากอยากทราบเป้าเศรษฐกิจจีน ให้พิจารณาจากผลการประชุมเป็นสำคัญ

ในการประชุมสองสภารอบล่าสุด ประเด็นที่ได้รับการจับตามากเป็นพิเศษคือการแสดงออกของจีนที่สามารถเชื่อมโยงไปยังความขัดแย้งในกรณียูเครน เนื่องจากทุกก้าวย่างของจีนจะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ ในแง่นี้นายหวัง อี้ มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้ตอบคำถาม 27 ข้อ มีตั้งแต่วิกฤตยูเครนไปจนถึงความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับประเทศตามภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก สำนักข่าว CGTN วิเคราะห์ว่า นายหวัง อี้ใช้คำ “ความร่วมมือ” “การพัฒนา” “สันติภาพ” และ “ความปลอดภัย” บ่อยครั้งซึ่งบ่งบอกแนวโน้มการดำเนินกิจการระหว่างประเทศในช่วงเวลาวิกฤต นายหวัง อี้ยังกล่าวว่า โลกต้องการเอกภาพ ไม่ใช่การแบ่งแยก เพราะทุกฝ่ายบอบช้ำมามากจากเหตุการณ์โควิด-19 จุดยืนของจีนก็คือให้ทุกฝ่ายรักษาความสงบและใช้เหตุผลในการหาทางออก ดังนั้นจีนจะพยายามมีส่วนร่วมในการสร้างเวทีเจรจาไกล่เกลี่ย แต่ในขณะเดียวกันจีนก็จะยังคงยึดมั่นคำเรียกร้องให้สหรัฐฯ และพันธมิตรใช้หลักเคารพกันและกัน การอยู่ร่วมกัน และดำเนินความร่วมมือแบบได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย เพราะสันติภาพจากฝ่ายจีนย่อมไม่ใช่การอ่อนข้อให้อีกฝ่ายมาคุกคามกดดัน

ท่าทีนี้สอดคล้องกับการวางตัวของจีนเสมอมา ในการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีน ครั้งที่ 17 ปี พ.ศ. 2550 อดีตประธานาธิบดีจีน นายหู จิ่นเทาประกาศให้จีนทำทุกอย่างเพื่อเสริมสร้างวัฒนธรรมสัมพันธ์กับนานาประเทศ โดยใช้คำว่า “cultural soft power” แล้วกำหนดเป้าการบอกเล่าเรื่องราวดี ๆ เกี่ยวกับจีนให้โลกรับรู้ แนวทางนี้ถูกตอกย้ำอีกครั้งในการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีน ครั้งที่ 18 ปี พ.ศ. 2557 ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงบอกว่า จีนจะเพิ่มการสื่อสารกับชาวโลกให้มากกว่าเดิมเพื่อสร้างมิตรภาพกับประชาคมนานาชาติ

เหตุที่จีนยืนหยัดแนวทางดังกล่าวเพราะจีนปรารถนาจะเป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงทางเลือกดังสะท้อนในแผนทางสายไหมใหม่ จีนพยายามสร้างความร่วมมือกับนานาประเทศในทุกมิติ ทั้งการค้า การลงทุน การคมนาคม การศึกษา การท่องเที่ยว ฯลฯ อย่างในปีที่ผ่านมาความเชื่อมโยงของจีนมีมูลค่าสัญญาสูงถึง 45,600 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ด้วยจีนมุ่งมั่นลงทุนอย่างไม่ย่อท้อ นักคิดบางสำนักมองการเชื่อมโยงดังกล่าวเป็นความพยายามท้าทายศูนย์อำนาจเก่า แต่อีกบางสำนักมองว่า จีนเพียงต้องการสร้างบรรทัดฐานทางการค้าและปฏิสัมพันธ์ระหว่างประเทศแบบไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบ มุมมองนี้จะมีน้ำหนักมากขึ้น หากทบทวนกรณีต้มยำกุ้งเมื่อ 20 กว่าปีก่อน เพราะต้มยำกุ้งเกิดจากการเชื่อมโยงแบบเดิมซึ่งทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างคนจน-รวย เกิดวงจรรุ่งเรือง-ตกต่ำ ด้วยมีการเปิดโอกาสให้ปลาใหญ่จากชาติมหาอำนาจเข้าไปกินปลาเล็กในชาติชั้นรองจนโครงสร้างเศรษฐกิจผุพัง

ดังนั้นจีนจะต้องพิสูจน์ภาพความเป็นผู้นำให้มากที่สุดเพื่อให้การเชื่อมโยงดำเนินต่อไป ภาพของจีนต้องไม่ใช่ผู้นำที่มุ่งแต่การรบแม้จะเกิดความตึงเครียดเช่นในกรณียูเครน ทั้งนี้เพื่อไม่ให้สอดคล้องกับการสร้างภาพว่า จีนคือชาติก้าวร้าว มุ่งหวังแต่การยึดครองทางทหาร เศรษฐกิจ และสังคม ภารกิจรักษาสันติภาพจึงต้องนำหน้าเสมอสำหรับจีน และความเชื่อมั่นในหมู่ประชากรโลกคือสิ่งสำคัญ

ท่าทีระหว่างการประชุมสองสภาในเรื่องต่างประเทศไม่ใช่อุบัติการณ์สวยหรู แต่สะท้อนความพยายามของจีนตามที่เคยเป็นมา และจะยังเป็นไปตามแนวทางนั้น ความข้อนี้จะชัดเจนมากขึ้นถ้าพิจารณาผลการประชุมในส่วนที่เกี่ยวกับผลงานรัฐบาล นั่นคือจีนได้บรรลุความมั่นคงในทางเศรษฐกิจสังคมตามที่มุ่งหวังแล้ว ความยากจนถูกขจัดทั่วทุกพื้นที่ จีดีพีขยายตัว 8.1% รายได้การคลังเพิ่มขึ้น 10.7% ดุลการชำระเงินระหว่างประเทศยังคงมีความสมดุล จีนประกาศจะผลักดันเส้นทางสายไหมใหม่ต่อไปเพื่อสานต่อความมั่นคงภายใต้เงื่อนไขที่ว่า โลกต้องมั่นคงด้วย ทางสายไหมจึงไม่ต่างจากการหลอมรวมเอกภาพ หาใช่การแบ่งพรรคแบ่งพวก ดังนั้นแนวทางใดก็ตามที่จะกระทบความเป็นปึกแผ่นของประชาคมโลกย่อมไม่อยู่ในวิสัยทัศน์ของจีนไม่เว้นกระทั่งการขยายความขัดแย้งในกรณียูเครนซึ่งมหาอำนาจบางฝ่ายแสดงทีท่าสนับสนุนอยู่กลาย ๆ อาจจะด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจการเมือง

(เขียนโดย ดร.ฐณยศ โล่ห์พัฒนานนท์  นักวิจัยด้านความมั่นคงใหม่ วัฒนธรรม และอุตสาหกรรมบันเทิงระหว่างประเทศ สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)

00:00:00

  • เสียงข่าวประจำวัน (07-06-2565)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (07-06-2565)

  • เสียงคุยกันวันละประเด็น (07-06-2565)

  • เสียงข่าวประจำวัน (06-06-2565)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (06-06-2565)

雷德辛