บัวลอย – ของกินประจำเทศกาลหยวนเซียว元宵节 (เทศกาลโคมไฟ)

เพิ่งผ่านเทศกาลโคมไฟ หรือ 元宵节- หยวนเซียวเจี๋ย มาได้ไม่ถึงหนึ่งอาทิตย์ดี ด้วยความที่ตั้งแต่เริ่มต้นปีใหม่ คนเขียนงานยุ่งมาก ขนาดวันตรุษจีน ที่ปกติที่บ้านจะต้องออกไปหาซื้อของไหว้ล่วงหน้าแล้วมาช่วยกันตระเตรียม ปีนี้ก็ไม่มีโอกาสได้ติดตามที่บ้านไปหิ้วตะกร้า เข็นรถเข็นซูเปอร์มาร์เก็ตจ่ายตลาด  เหตุการณ์ที่เล่ามานี่เป็นเครื่องยืนยันว่าคนเขียนท่าจะยุ่งจริง!

จนถึงวันศุกร์ที่ผ่านมา เป็นวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2021 ที่ไทยก็เฮฮาแฮปปี้กัน เป็นวันหยุดยาว (ศุกร์-เสาร์-อาทิตย์) เพราะไปตรงกับวันพระใหญ่ – วันมาฆบูชา รอจนถึงวันที่ได้หยุดพักผ่อนนั่นแหละ คนเขียนถึงได้มารู้สึกตัวว่า นอกจากเป็นวันพระใหญ่แล้ว ยังเป็นวัน หยวนเซียวเจี๋ย หรือ คนไทยเชื้อสายจีนจะเรียก “ง่วนเซียวโจ่ย”  ไฮไลท์ในเทศกาลนี้ นอกจากกิจกรรมหลักอย่างการชมโคมไฟ ทายปริศนาโคมไฟ เดินเที่ยวเล่นส่องหนุ่มส่องสาวแล้ว “ของกิน” ก็เป็นอีกหนึ่งอย่างที่ทำให้ความทรงจำเราชัดเจนขึ้น ของกินที่มาคู่กันกับหยวนเซียวเจี๋ยก็คือ “บัวลอย”

“บัวลอย” เป็นอาหารที่คู่กันมากับหลากหลายเทศกาลของจีน นอกจากอร่อยแล้ว ความกลมของบัวลอยยังเป็นสัญลักษณ์ของการอยู่พร้อมหน้าพร้อมตาของครอบครัว รักใคร่กลมเกลียว ความสุขและความโชคดี และในเทศกาลหยวนเซียวนี้จะขาด “บัวลอย” ไปไม่ได้ บัวลอย คือ สัญลักษณ์ที่คนจีนโบราณใช้แสดงออกถึงความปรารถนาและอนาคตที่มีความสุขสดใส มีเรื่องที่น่าสนใจที่คนจีนบางคนก็อาจจะยังแยกไม่ออก นั่นก็คือ ที่จีนมีของกินที่เหมือนบัวลอย (แป้งปั้นเป็นก้อนแล้วนำไปต้ม) 2 แบบ ได้แก่ “汤圆 ทังหยวน” และ “元宵 หยวนเซียว”

บัวลอย – ของกินประจำเทศกาลหยวนเซียว元宵节 (เทศกาลโคมไฟ)_fororder_20210305-1

ของกินประจำเทศกาลหยวนเซียว: “汤圆 ทังหยวน” และ “元宵 หยวนเซียว”ก่อนต้ม

ที่มาภาพ: https://www.sohu.com/a/295633044_100213684

สิ่งที่เหมือนกันและทำให้หลายคนสับสน (รวมถึงตัวคนเขียนเองด้วย) ก็คือ ทั้ง “ทังหยวน” และ “หยวนเซียว” ตัวเปลือกนอกหรือแป้งก็ทำจากแป้งข้าวเหนียวเหมือนกัน ส่วนตัวไส้ก็นิยมทำไส้หวานอย่าง งา น้ำตาล ถั่วแดง เหมือนกันอีก แล้วความต่างมันอยู่ตรงไหนกันหนอ นอกจากชื่อไม่เหมือน ต้นกำเนิดไม่เหมือนแล้ว  (ใต้ คือ ทังหยวน และเหนือ คือ หยวนเซียว) ความต่างหลักๆ ของสองอย่างนี้ ก็คือ “ขั้นตอนหรือวิธีการทำ” ที่ไม่เหมือนกันค่ะ

บัวลอย – ของกินประจำเทศกาลหยวนเซียว元宵节 (เทศกาลโคมไฟ)_fororder_20210305-2

หนึ่งในขั้นตอนการทำ 汤圆 ทังหยวน นวดแป้งก่อน ค่อยใส่ไส้ทีหลัง (หากต้องการ)

ที่มาภาพ: https://baike.baidu.com/item/%E6%B1%A4%E5%9C%86/1333352

อธิบายง่ายๆ ก็คือ ทังหยวนเขาจะใช้วิธีทำแป้งก่อน นวดแป้งเป็นก้อนแยกไว้ ถ้าไม่ใส่ไส้ก็คือจบที่ตรงนี้ ปั้นแป้งเป็นก้อนเล็กลงต้มได้เลย แต่ถ้าอยากใส่ไส้ (บัวลอยลูกใหญ่) ก็ทำไส้กวนใส่ชามใหญ่ๆ แยกไว้ต่างหากแล้วค่อยเอาไส้ไปใส่ คล้ายกับการห่อเกี๊ยว (饺子) ซึ่งนี่ก็คือวิธีการเดียวกับการทำบัวลอยบ้านเรา ส่วนหยวนเซียวแตกต่างไป หยวนเซียวทำไส้ก่อน ทำไส้เสร็จปั้นไส้เป็นก้อนเล็กๆ แล้วเอาไปคลุกกับแป้งข้าวเหนียว จากนั้นก็พรมหรือเอาไปจุ่มน้ำแล้วมาปั้นก้อนแป้งต่อจนได้ขนาดที่ต้องการ ด้วยวิธีการทำที่แตกต่างกันนั้นเอง ทำให้ส่วนไส้ของหยวนเซียวนั้นจะค่อนข้างเล็กแต่ตัวแป้งที่เป็นเปลือกหนา ส่วนทังหยวนปกติแล้วจะไส้แน่นกว่า แป้งบางหน่อย และเมื่อดูจากเปอร์เซ็นต์ของส่วนผสมแล้ว หากเป็นคนท้องไส้ไม่ค่อยดี เลือกกินทังหยวนจะดีกว่า เพราะแป้งไม่มาก ย่อยไม่ยากนัก

บัวลอย – ของกินประจำเทศกาลหยวนเซียว元宵节 (เทศกาลโคมไฟ)_fororder_20210305-3

หนึ่งในขั้นตอนการทำหยวนเซียว ทำไส้ก่อนค่อยเอาไปคลุกแป้ง

ที่มาภาพ: https://baike.baidu.com/item/%E6%B1%A4%E5%9C%86/1333352

ส่วนตัวคนเขียนเป็นคนชอบกินบัวลอยมาก บัวลอยของไทยส่วนมากที่เจอจะไม่มีไส้ เน้นไปที่แป้ง อาจจะผสมอะไรลงไปในแป้งให้เป็นสีสันและรสชาติแปลกใหม่ออกไป  บ้างก็นิยมใส่ไข่ลงไปเป็นบัวลอยไข่หวาน (แบบใส่ไข่นี้คนเขียนไม่ชอบเท่าไหร่นัก) ถ้าบัวลอยแบบไม่มีไส้จะนิยมกินกับน้ำกะทิ ส่วนบัวลอยที่มีไส้และเป็นไส้ยอดฮิตที่หากินได้ง่ายในไทยคือ บัวลอยไส้งาดำ จะเสิร์ฟมาพร้อมกับน้ำขิงร้อนๆ เป็นของหวานอุ่นท้องเพื่อสุขภาพ เพราะมีน้ำขิง มีงาดำ

เมื่อปากท้องร้องหา เราก็ต้องสนองความอยากกันเสียหน่อย หลังจากระลึกได้ว่าเทศกาลหยวนเซียวได้วนมาถึงแล้ว พอวันต่อมา คนเขียนได้พาครอบครัวไปตรวจสุขภาพที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ระหว่างรอญาติผู้ใหญ่เข้าห้องตรวจพบแพทย์ ก็แอบแวบไปหาของกินที่โรงอาหาร กินข้าวเสร็จตบท้ายด้วยของหวานที่เขียนไว้บนกระดานเมนู ก็คือ บัวลอยไส้งาดำ อุ๊ย…ดีจัง มีเมนูนี้ด้วย การที่บัวลอยหากินได้ง่ายแม้แต่ในฟู๊ดคอร์ทของโรงพยาบาลมันก็เป็นเรื่องที่ดีอยู่ แต่เรื่องที่ผิดหวังก็คือรสชาติมันไม่ได้… มันไม่อร่อยแบบค่อนไปทางแย่  แป้งจืดๆ เหนียวๆ ไส้งาดำก็ไม่กลมกล่อม ไม่ต้องบอกด้วยว่าน้ำที่ต้มบัวลอยนั้น แยกรสชาติไม่ได้ว่าเป็นน้ำเชื่อมธรรมดา น้ำอุ่น หรือ น้ำขิงเจือจางกันแน่ แง…ไม่ประทับใจเลย เดาว่าคนขายคงใช้แบบสำเร็จรูปแช่แข็งไว้ ซึ่งแช่ไว้นานแค่ไหนแล้วไม่มีใครรู้ พอมีคนสั่งก็นำเอาเข้าไปอุ่นในไมโครเวฟ คนเขียนเคยกินบัวลอยสำเร็จรูปแบบนี้มาแล้วนะคะ แต่หากนำไปเปรียบเทียบกับที่เคยกินมา อันนี้อยู่ลำดับท้ายสุดเลยจริงๆ อย่ากระนั้นเลย เมื่อซื้อเขากินแล้วผิดหวัง มาลองทำเองมั่งจะเป็นไรไป เรามาหาวิธีทำบัวลอยอร่อยๆ ล้างปาก แก้ความอยากกันหน่อยดีกว่า เดี๋ยวต่อไปจะชวนทำบัวลอยแบบมีไส้แบบที่บ้านเราเมืองไทยหาซื้อยากหน่อย ก็คือ บัวลอยไส้ถั่วลิสง花生汤圆 แม้จะไม่ได้รับความนิยมจากคนไทยมากนัก แต่รสชาติรับรองว่าอร่อยและแปลกใหม่ไม่แพ้ไส้งาดำยอดฮิต ส่วนจะทำยากง่ายแค่ไหนนั้น ติดตามต่อได้บทความหน้าค่ะ

แหล่งที่มาข้อมูล:

  1. ChineseHealthyCook (2018). Peanut Rice Balls 花生汤圆. https://www.youtube.com/watch?v=VwJ2zzcrYFk
  2. Baike Baidu. 汤圆(中国传统小吃的代表之一). https://baike.baidu.com/item/%E6%B1%A4%E5%9C%86/1333352
  3. 白山交通广播 (2019). 元宵、汤圆大不同!哪个才是你的爱? https://www.sohu.com/a/295633044_100213684
  4. 新华网 (2017). 元宵节小常识:元宵与汤圆的区别. http://www.xinhuanet.com//culture/2017-02/08/c_1120431993.htm
ภาพและเนื้อหาข่าวเป็นลิขสิทธิ์ของ China Face