ศิลปะการเขียนพู่กันจีน

2021-05-24 16:48

ศิลปะชั้นสูงของจีนนั้นถือเป็นศิลปะเก่าแก่อันทรงคุณค่าที่ไม่ได้เป็นเพียงผลงานอันสะท้อนความรู้สึกและสร้างความผ่อนคลายเท่านั้น แต่ยังช่วยฝึกสมาธิ ขัดเกลาจิตใจให้แก่ผู้ฝึกฝนไปด้วย ซึ่งได้แก่ ฉิน (กู่ฉิน古琴 : การเล่นพิณ) ฉี (เหวยฉี 围棋: หมากล้อม) ซู (ซูฝ่า书法: การเขียนพู่กันจีน) ฮว่า (ฮว่า画: วาดภาพ) ในบรรดางานศิลปะทั้ง 4 นั้น การเขียนพู่กันจีนถือว่าเก่าแก่และได้รับความนิยมมากที่สุด ในวันนี้เราจะพาทุกคนมารู้จักกับศิลปะดังกล่าวกัน ว่าอะไรทำให้การเขียนพู่กันถึงได้รับการสืบทอดมาอย่างยาวนานและมีความนิยมมากขนาดนี้

ศิลปะการเขียนพู่กันจีน_fororder_20210524-1

รูปที่ 1 การเขียนพู่กันจีน

การเขียนพู่กันจีนถือเป็นศิลปะที่เก่าแก่มีอายุกว่าหลายพันปี และได้รับการเผยแพร่มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นในประเทศญี่ปุ่น, สิงคโปร์, เกาหลี หรือเวียดนาม ทั้งนี้สาเหตุที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายจนมีการสืบทอดมาอย่างยาวนาน เนื่องจากการเขียนพู่กันจีนไม่ใช่เพียงแค่การใช้พู่กันจุ่มหมึกแล้ววาดตัวอักษรลงไปในกระดาษเท่านั้น แต่การจะเขียนได้ ศิลปินต้องรู้ซึ้งถึงความหมายของตัวอักษรเป็นอย่างดี และมีสมาธิจดจ่อกับผลงาน เพื่อบรรจงถ่ายทอดเรื่องราวผ่านลายเส้นที่ขีดเขียนลงบนกระดาษด้วยเทคนิคต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น การลงน้ำหนัก การตวัดมือ จังหวะการยกมือ ทั้งหมดล้วนมีผลกับงานที่ออกมา แล้วยังต้องมีความคิดสร้างสรรค์และสะท้อนความเป็นตัวตนผ่านผลงานออกมาอีกด้วย ทำให้ตัวอักษรจากพู่กันจีนนั้นสามารถสอดแทรกความหมายแฝงได้ไม่ต่างจากภาพวาด

ในอดีต ลายมือการเขียนพู่กันจีนนั้นก็เป็นสิ่งสำคัญในการใช้วัดภูมิปัญญาและความสามารถของผู้คน อย่างการคัดคนเข้ารับราชการในวังหลวง หากเป็นคนที่มีลายมือการคัดพู่กันได้ประณีตสวยงาม ก็จะมีภาษีดีกว่าผู้อื่น สำหรับนักปราชญ์หรือนักกวีเอง ก็สามารถเพิ่มอารมณ์และคุณค่าให้แก่ผลงานได้โดยการใช้วิธีเขียนแบบพู่กันจีนเพื่อสื่ออารมณ์และความรู้สึกผ่านตัวอักษรออกมา สิ่งเหล่านี้จึงสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของการเขียนพู่กันจีนในสมัยก่อน ๆ หรือแม้แต่ในปัจจุบันเอง การเขียนพู่กันจีนก็ยังคงได้รับการยกย่องให้เป็นผลงานอันทรงคุณค่า และมีผลงานใหม่ ๆ ถูกสร้างสรรค์ขึ้นมาให้ผู้คนได้ชื่นชม หาซื้อไปเก็บสะสมไว้เหมือนกับงานศิลปะแบบอื่น ๆ

ในส่วนของอุปกรณ์สำหรับใช้เขียนพู่กันจีนนั้นถูกเรียกว่า เหวินฝางซื่อเป่า ที่มีความหมายว่า รัตนะทั้งสี่ในห้องสมุด ซึ่งถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่าของชาวจีน อันได้แก่

  1. เหมาปี่ 毛笔 พู่กันจีน ถือเป็นอุปกรณ์ที่สำคัญที่สุดในการถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดของจิตรกรออกมาบนผลงาน พู่กันจีนจึงมีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะจากการนำขนสัตว์มาใช้ทำพู่ อย่าง ขนกระต่าย ขนแพะ หรือขนสุนัขจิ้งจอก ซึ่งทำให้ลายเส้นขณะเขียนมีความละเอียดมากกว่าการใช้ปากกาหรือพู่กันแบบอื่น ๆ ส่วนของด้ามจับมักนิยมทำมาจากไม้ไผ่
  2. ม่อ 墨 หมึกสีดำ ทำมาจากเขม่าที่เกิดจากการเผาไม้สน และน้ำมันที่นำมาปั้นเป็นก้อนหรือแท่ง เพื่อนำมาฝนกับที่ฝนน้ำหมึก แต่ในปัจจุบันมักนิยมใช้น้ำหมึกจากขวดแทน
  3. จื่อ 纸 กระดาษ ถูกคิดค้นโดยชาวจีนมาตั้งแต่สมัยโบราณ ในสมัยราชวงศ์ถังและซ่งได้มีการผลิตกระดาษชนิดพิเศษออกมา ซึ่งมีคุณสมบัติ มีเนื้อสีขาว นุ่ม ละเอียด กระจายหมึกได้สม่ำเสมอ ชัดเจน และไม่เปื่อยง่าย เหมาะแก่การนำมาใช้เขียนพู่กันจีน
  4. เยี่ยน 砚 แท่นฝนหมึก เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ถูกคิดค้นขึ้นมายาวนานพอ ๆ กับศิลปะการเขียนพู่กัน มีบทบาททั้งในงานเขียนอักษรและงานภาพวาด ลักษณะเป็นแท่นหินทำมาจากหินเนื้อละเอียด นิยมนำมาแกะสลักเพื่อเพิ่มความสวยงามและถือเป็นงานศิลปะไปในตัว วิธีใช้คือนำน้ำมาหยดใส่บนแท่นฝนหมึกเล็กน้อย จากนั้นจึงนำแท่งหมึกมาฝนจนได้ความเข้มข้นของหมึกตามต้องการ

นอกเหนือจากรัตนะทั้ง 4 แล้วก็ยังมีอุปกรณ์เพิ่มเติมอื่น ๆ อย่าง ที่วางพู่กัน หินทับกระดาษ ที่แขวนพู่กัน และกระบอกใส่พู่กัน เป็นต้น

ศิลปะการเขียนพู่กันจีน_fororder_20210524-2

รูปที่ 2 รัตนะทั้งสี่ในห้องสมุด

จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่าศิลปะการเขียนพู่กันจีน ไม่ใช่เพียงแค่การวาดตัวอักษรลงบนกระดาษเท่านั้น แต่เป็นงานศิลปะที่ถ่ายทอดเรื่องราวและสะท้อนความรู้สึกนึกคิดของจิตรกรผ่านลายเส้นจนออกมาเป็นผลงานอันงดงามทรงคุณค่า โดยที่ตัวอักษรแต่ละตัว ลายเส้นแต่ละเส้น ก็บ่งบอกเรื่องราวแตกต่างกันไป นี่จึงเป็นอีกหนึ่งศาสตร์การเรียนรู้ที่ช่วยฝึกฝนจิตใจและสมาธิของผู้ฝึกได้เป็นอย่างดี

…………………………………………………………………………………

ที่มาของรูปภาพ : รูปที่ 1 การเขียนพู่กันจีน https://chiculture.org.hk/sc/china-five-thousand-years/3175

ที่มาของรูปภาพ : รูปที่ 2 รัตนะทั้งสี่ในห้องสมุด http://www.sxkzxt.com/showcase.asp?id=217

ที่มาของข้อมูล : https://chinese2u.blogspot.com/2020/08/blog-post.html

https://sites.google.com/site/phukancin/home

http://field2604.blogspot.com/p/3000-5-1.html?m=1

ภาพและเนื้อหาข่าวเป็นลิขสิทธิ์ของ China Face