การแก้ปัญหาความยากจน กุญแจสำคัญสู่สังคมพอกินพอใช้

2020-12-09 14:26:51 | CRI
Share with:

การแก้ปัญหาความยากจน กุญแจสำคัญสู่สังคมพอกินพอใช้

คุณผู้ฟังครับ การขจัดความยากจนและการสร้างสังคมพอกินพอใช้ เป็นสองประเด็นหลักในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีนในปี 2020  นับตั้งแต่ปี 1979 จนถึงปัจจุบัน คำว่า “เสี่ยวคัง”  ซึ่งแปลว่า สังคมพอกินพอใช้ มีความหมายหลากหลายและสมบูรณ์ยิ่งขึ้น เสี่ยวคัง ไม่ได้เพียงหมายความว่า เศรษฐกิจเจริญเติบโตขึ้น แต่ยังหมายถึงการพัฒนาและความเจริญก้าวหน้าด้านการเมือง วัฒนธรรม สังคม และอารยธรรมทางระบบนิเวศ ภายใต้เป้าหมายดังกล่าว ประชาชนจีนได้บากบั่นต่อสู้มาโดยตลอด

ปี 2019 ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี)เฉลี่ยต่อคนของจีน มากกว่า 10,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ภารกิจด้านต่าง ๆ ของจีน เช่น  สาธารณสุข การศึกษา และสิ่งแวดล้อม มีความก้าวหน้าอย่างมาก

คำว่า เสี่ยวคัง ยังหมายความว่า ต้องให้ประชาชนทั่วสังคมมีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง การแก้ไขปัญหาความยากจนจึงเป็นกุญแจสำคัญในกระบวนการพัฒนาสู่สังคมพอกินพอใช้

ด้วยเหตุนี้ จีนจึงใช้ความพยายามอย่างมากในการแก้ปัญหาความยากจน โดยรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นได้ร่วมกันวิเคราะห์หาสาเหตุของความยากจนในแต่ละท้องถิ่น เพื่อกำหนดมาตรการที่ตอบโจทย์ ซึ่งรวมถึง วางแผนส่งเสริมการปลูกพืชผลทางการเกษตรที่เหมาะสม และการพัฒนาอุตสาหกรรมวัฒนธรรมพื้นบ้านและอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในท้องถิ่น นอกจากนี้ ยังให้การศึกษาและฝึกอบรมวิชาชีพแก่ประชาชนในพื้นที่ยากจน เพื่อแก้ปัญหาความยากจนที่ต้นเหตุ

จีนยังใช้มาตรการให้มณฑลที่มั่งคั่งกว่าช่วยเหลือพื้นที่ที่ต้องการการสนับสนุนงานบรรเทาความยากจนด้วย

มณฑลฝูเจี้ยน ทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของจีน และเขตปกครองตนเองชนเผ่าหุยหนิงเซี่ย ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีน มีความผูกพันกันเป็นพิเศษมากว่า 20 ปีแล้ว เดือนมิถุนายน ปี ค.ศ. 2016 นายสี จิ้นผิง  ประธานาธิบดีจีน เล่าถึงเรื่องราวของมณฑลฝูเจี้ยนซึ่งจับคู่กับเขตหนิงเซี่ยเพื่อช่วยขจัดปัญหาความยากจน ระหว่างการลงพื้นที่ตรวจงานในเขตปกครองตนเองชนเผ่าหุยหนิงเซี่ยว่า

ปี 1997 เขาเดินทางมาเยี่ยมเยียนพี่น้องประชาชนในหมู่บ้านซีไห่กู้ ซึ่งเป็นหมู่บ้านในเขตทุรกันดาร หลังการลงพื้นที่ครั้งนั้น เขาวางแผนอพยพชาวบ้านทั้งหมู่บ้านไปยังพื้นที่ที่เหมาะแก่การใช้ชีวิต หลังพัฒนาเป็นเวลาหลายปี รายได้เฉลี่ยของชาวบ้านซีไห่กู้ที่อพยพมายังพื้นที่ใหม่เพิ่มขึ้นจาก 500 หยวน หรือ ประมาณ 2,000 บาทต่อปี เป็นกว่า 10,000  หยวน หรือ ราว 40,000 บาทต่อปี ซึ่งโตขึ้นกว่า 20 เท่า

ชาวหมู่บ้านหมิ่นหนิง ส่วนใหญ่อพยพมาจากหมู่บ้านซีไห่กู้ ในเขตหนิงเซี่ย ซีไห่กู้เป็นหนึ่งในพื้นที่ทุรกันดารที่ไม่เหมาะแก่การใช้ชีวิตที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ชาวบ้านส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในบ้านถ้ำบนภูเขาที่ปราศจากพืชผล

การแก้ปัญหาความยากจน กุญแจสำคัญสู่สังคมพอกินพอใช้

ปี 1997 นายสี จิ้นผิง ซึ่งดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ประจำมณฑลฝูเจี้ยนในขณะนั้น เดินทางไปเยี่ยมเยียนชาวบ้านที่หมู่บ้านซีไห่กู้ สภาพความยากจนแร้นแค้นในพื้นที่สะเทือนใจเขาเป็นอย่างมาก เขาจึงตัดสินใจช่วยอพยพชาวบ้านไปยังพื้นที่อื่นที่เหมาะแก่การใช้ชีวิต ไกลจากหมู่บ้านเดิมหลายร้อยกิโลเมตร นายสี จิ้นผิง ตั้งชื่อหมู่บ้านใหม่แห่งนี้ว่า “หมู่บ้านหมิ่นหนิง” ซึ่งมาจากชื่อย่อของมณฑลฝูเจี้ยนและเขตปกครองตนเองหนิงเซี่ย

ตลอดช่วงเวลาหลายปี โครงสร้างพื้นฐานของหมู่บ้านหมิ่นหนิงได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ประชากรก็เพิ่มขึ้นตลอด กระทั่งปี 2002 หมู่บ้านหมิ่นหนิงจึงได้รับการยกระดับเป็นตำบล

นางหลิว ลี่ ชาวตำบลหมิ่นหนิง กล่าวว่า เธอเคยอาศัยอยู่ในบ้านดินมาก่อน หลังอพยพมาที่นี่ เธอมีบ้านหลังใหม่ที่มีลานบ้าน มีไฟฟ้า และมีน้ำประปาใช้งานได้สะดวกเพียงแค่เปิดก๊อกเท่านั้น

เนื่องจากได้รับการสนับสนุนด้านเงินทุน บุคลากร และเทคโนโลยีจากมณฑลฝูเจี้ยน ตำบลหมิ่นหนิงจึงพัฒนาธุรกิจต่าง ๆ ในท้องถิ่น เช่น การปศุสัตว์ การปลูกองุ่นผลิตไวน์ และเห็ดหอม

นายเซี่ย ซินชาง เจ้าหน้าที่ตำบลหมิ่นหนิง กล่าวว่า มณฑลฝูเจี้ยนห่างจากที่นี่กว่า 2,000 กิโลเมตร แต่ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ และบุคลากรด้านเทคโนโลยียินดีเดินทางมาให้ความช่วยเหลือแก่เรา เช่น มาสอนทำธุรกิจปลูกเห็ดหอม ทำให้พวกเราสนิทกันยิ่งกว่าพี่น้องในไส้

นายหลี่ หุยชิน เจ้าหน้าที่จากมณฑลฝูเจี้ยนที่เดินทางมาช่วยเขตหนิงเซี่ย กล่าวว่า หลังชาวบ้านอพยพมายังพื้นที่ใหม่ พี่น้องชาวตำบลหมิ่นหนิงก็มีคุณภาพชีวิตดีขึ้นมาก นอกจาก การพัฒนาธุรกิจดั้งเดิมต่อไป เรายังกำลังหาทางช่วยพัฒนาธุรกิจใหม่ด้วย ขณะนี้ เรากำลังเตรียมช่วยคนที่นี่จำหน่ายสินค้าผ่านการไลฟ์สตรีม ซึ่งตัวเขาและเพื่อนร่วมงานต่างเห็นว่า การทำเช่นนี้มีความจำเป็นและมีความหมายมาก

นี่ก็คือ โมเดล “หมิ่นหนิง” ของจีน ซึ่งให้พื้นที่มั่งคั่งจับมือช่วยเหลือพื้นที่ที่ด้อยกว่า ช่วงหลายปีมานี้ จีนใช้โมเดลดังกล่าวช่วยให้หลายพื้นที่พ้นจากภาวะยากจนสุดขีดได้สำเร็จ

เมืองปกครองตนเองชนเผ่าอี๋เหลียงซาน มณฑลเสฉวน ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน เป็นภูมิภาคที่มีชื่ออยู่ในบัญชีพื้นที่ยากจนของประเทศ ช่วงที่ผ่านมา ทางการท้องถิ่นได้ใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ เพื่อบรรลุเป้าหมายการขจัดความยากจน จนประสบผลสำเร็จเป็นอย่างมาก

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ทางการอำเภอจาวเจวี๋ย เมืองเหลียงซาน มณฑลเสฉวนจัดสรรบ้านใหม่แก่ประชาชนที่ย้ายถิ่นฐานมาจากพื้นที่ทุรกันดาร ชุมชนแห่งใหม่สร้างขึ้นสำหรับครอบครัวที่ย้ายมาจากที่อื่นรวม 3,914 ครัวเรือน ถือเป็นชุมชนสำหรับผู้ยากจนที่ย้ายมาจากต่างถิ่นที่ใหญ่ที่สุดในมณฑลเสฉวน   

ชุมชนแห่งใหม่นี้มีบ้านใหม่ 4 ขนาด ได้แก่ บ้าน 25 ตารางเมตร สำหรับผู้อยู่อาศัยคนเดียว บ้าน 50 ตารางเมตร สำหรับครอบครัวที่มีสมาชิก 2 คน บ้าน 75 ตารางเมตร สำหรับครอบครัวที่มีสมาชิก 3 คน และบ้าน 100 ตารางเมตร สำหรับครอบครัวที่มีสมาชิก 4 คน

ชุมชนใหม่แห่งนี้มีสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐานครบถ้วน ทั้งไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติ ขณะที่ศูนย์จัดกิจกรรมและสวนดอกไม้ยังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง

นายเฉิง ซงไป่ ผู้รับผิดชอบโครงการก่อสร้างชุมชนสำหรับผู้ยากจน กล่าวว่า ชุมชนใหม่แห่งนี้ยังมีการก่อสร้างโรงเรียน 7 แห่ง โรงพยาบาล 3 แห่ง และโรงงานผลิตน้ำดื่มอีก 2 แห่ง ใกล้ชุมชน เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ย้ายถิ่นฐานมายังที่นี่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสร้างหลักประกันให้ชาวบ้านเข้าถึงบริการสาธารณสุขและการศึกษา

นายโหมวเซ่อลาลั่ว ชาวบ้านจากหมู่บ้านบนหน้าผา เดินทางมารับบ้านใหม่  ครอบครัวของเขามีสมาชิก 5 คน จึงมีสิทธิ์ได้บ้านขนาด  100 ตารางเมตร เขาเดินทางออกจากหมู่บ้านเดิมล่วงหน้า 1 วัน และมารอคิวรับบ้านใหม่ตั้งแต่ 7 โมงเช้า เขาบอกว่า รู้สึกดีใจมากที่วันนี้มีบ้านใหม่ดี ๆ อยู่ ความเป็นอยู่ของครอบครัวจะได้สะดวกมากขึ้น เด็ก ๆ ไปโรงเรียนก็สะดวก การรับบริการสุขภาพก็กลายเป็นเรื่องเข้าถึงง่ายเช่นกัน

ครอบครัว 84 ครัวเรือนในหมู่บ้านหน้าผาจะย้ายลงมาอยู่ที่ชุมชนใหม่แห่งนี้ทั้งหมด ในอดีต ชาวบ้านต้องไต่บันไดที่สร้างเองขึ้นไปบนหน้าผาสูง 800 เมตร เพื่อเข้าถึงหมู่บ้าน

การแก้ปัญหาความยากจน กุญแจสำคัญสู่สังคมพอกินพอใช้

ปี 2017 หมู่บ้านบนหน้าผาดังกล่าวเกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกหลายอย่าง  เช่น มีจุดให้บริการทางการเงิน และมีเครือข่าย 4G ครอบคลุม นอกจากนี้  ยังมีบันไดเหล็ก 2,556 ขั้น เชื่อมต่อหมู่บ้านกับโลกภายนอก ทั้งหมดนี้ เป็นความพยายามส่วนหนึ่งของทางการท้องถิ่นเพื่อขจัดความยากจนในพื้นที่

เจ้าหน้าที่ท้องถิ่น บอกว่า วัยรุ่นบางส่วนยังคงอาศัยและทำงานอยู่ในหมู่บ้านเดิมบนหน้าผาต่อไป เพื่อพัฒนาทรัพยากรท่องเที่ยว เช่น ถ้ำ ภูเขา น้ำพุร้อน ป่าไม้ รวมไปถึงเร่งพัฒนากิจการท่องเที่ยวในหมู่บ้าน

จากกรณี หมู่บ้านบนหน้าผา  ดังกล่าว แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า  จีนจะสามารถบรรลุเป้าหมายขจัดความยากจนให้หมดสิ้นภายในปีนี้ได้ อย่างแน่นอน

ย้อนกลับไปในปี ค.ศ. 1979  ประชากรยากจนในจีนมีจำนวน 250  ล้านคน แต่ในปลายปี 2019 ประชากรยากจนในจีนลดลงเหลือเพียง 5.51 ล้านคน ความสำเร็จของจีนสร้างคุณูปการต่อการแก้ไขปัญหาความยากจนโลก แนวคิดของจีนในการขจัดความยากจนด้วยมาตรการที่ตอบโจทย์นั้นได้รับการบันทึกไว้ในรายงานการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ ครั้งที่ 73

จากความมุ่งมั่นและการใช้มาตรการตามหลักวิทยาศาสตร์ในการขจัดความยากจน เชื่อมั่นว่า  จีนจะบรรลุเป้าหมายการขจัดความยากจนตามเวลาที่กำหนด อีกทั้งยังทำให้ประชาชนจำนวนมากขึ้นมีความมั่งคั่งระดับปานกลาง

(yim/cai)

00:00:00

  • เสียงข่าวประจำวัน (07-06-2565)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (07-06-2565)

  • เสียงคุยกันวันละประเด็น (07-06-2565)

  • เสียงข่าวประจำวัน (06-06-2565)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (06-06-2565)

何喜玲